รังแค

141 จำนวนผู้เข้าชม  | 

รังแค

รังแค (Dandruff)

หรือสะเก็ดขุย ขาวๆเล็กๆบนหนังศีรษะ ที่มาพร้อมกับอาการแสบคันหัว คันหู บางทีก็มีตุ่มขึ้นที่ศีรษะ คันและมีผื่นบริเวณผิวหนังที่มีต่อมไขมันเยอะๆ มีชื่อเรียกเท่ๆ อีกชื่อว่า เซ็บเดิร์ม (SebDerm) หรือ Seborrheic Dermatitis เป็นเรื่องที่ทำให้หลายๆคนทุกข์ทรมาน รำคาญ กับการรักษาที่ไม่หายสักที โดยที่ไม่เข้าใจว่าตัวเองเป็นอะไรกันแน่..? ซึ่งหากเข้าใจโรคอย่างดีแล้ว เราสามารถดูแลตัวเองได้ โดยไม่ยากเลย (ในที่นี้ของพูดถึงโรคบนหนังศีรษะในผู้ใหญ่เป็นหลัก)
เซ็บเดิร์ม (SebDerm)เกิดจากสาเหตุอะไร?
ตามตำราจะตอบว่าสาเหตุยังไม่ชัดเจน เป็นแล้วไม่หายขาด เป็นๆหายๆเช่นนี้แหละ แต่ผมขอตอบว่ามันคือ หวัดของหนังศีรษะครับ!! ที่มีองค์ประกอบของการเกิดโรคจาก 3 ปัจจัยคือ ยีสต์ (Yeast), สมดุลของหนังศีรษะ และพฤติกรรมที่ไม่ถูกกับโรค

ยีสต์ (Yeast) เชื้อราตัวเล็กๆที่ชื่อว่า Malassezia spp. (M. furfur, M. globosa, M. restricta) กลุ่มเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคเกลื้อน เชื้อนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดความเป็นไปของโรค โดยกรดไขมันที่เป็นของเสียจากเชื้อ ทำให้เกิดการอักเสบของหนังศีรษะ โดย การตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันแต่ละบุคคล เป็นตัวกำหนดความรุนแรงมากหรือน้อยของโรค
สมดุลของหนังศีรษะ สภาพของหนังศีรษะที่แห้งเกินไปทำให้มีการคัน หนังศีรษะที่มันเกินไปก็ทำให้จำนวนเชื้อยีสต์เพิ่มขึ้น หรือหนังศีรษะที่กำลังอักเสบก็ทำให้การผ่านเข้าของแอนติเจน(Antigen) ต่างๆเข้าไปกระตุ้นการอักเสบของผิวหนังทำได้ง่าย สมดุลของระบบภูมิคุ้มกันบนหนังศีรษะ ที่ผิดปกติก็ทำให้มีการตอบสนองต่อ สิ่งเร้าที่ผิดปกติ
พฤติกรรม เช่นเดียวกับหวัด ร่างกายที่อ่อนแอ การใช้ชีวิตไม่เหมาะสม ภาวะเครียดๆ ขาดการพักผ่อน ขาดการออกกำลังกาย ทำให้โรคกำเริบได้ง่าย ภาวะขาดอาหาร การดื่มเหล้า การทานอาหารบางอย่างก็ทำให้โรคแย่ลงเช่นกัน

สะเก็ดที่หนังศีรษะนอกจากเซ็บเดิร์ม SebDerm แล้วเป็นอะไรได้อีกบ้าง?
หลายโรคที่ทำให้มีสะเก็ดบนศีรษะได้เช่นกันทำใหเหลายๆคนสับสนได้ เช่น
โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) ที่สะเก็ดจะหนาและเยอะว่า เซ็บเดิร์ม (SebDerm) อาจมีผื่นที่อื่นๆและความผิดปกติของเล็บร่วมด้วย
โรคภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic dermatitis) จะมีผิวแห้งเป็นสำคัญแยกกันยากในเด็ก

โรคเชื้อราบนหนังศีรษะ (Tinea capitis) เกิดจากการติดเชื้อราในกลุ่ม Dermatophyte ต้องขอเน้นในที่นี้ว่า เซ็บเดิร์ม (SebDerm) ถึงแม้จะมีเชื้อราเป็นปัจจัย แต่ไม่ใช่การติดเชื้อรา และไม่ใช่โรคติดต่อ ต่างกับ Tinea capitis ที่จะกล่าวเรื่องนี้ในบทความต่อๆไป
การติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง(Impetigo) บางครั้งก็ทำให้มีตุ่ม หรือ สะเก็ดคล้ายๆกับเซ็บเดิร์ม
3 เคล็บลับในการจัดการกับ Seborrheic Dermatitis ให้หายขาด
สิ่งที่ทำให้โรคไม่หายขาดเพราะไม่เข้าใจโรคครับ !! จริงอยู่ว่าปัจจัยทางพันธุกรรม และ ความไวของระบบภูมิคุ้มกันต่อยีสต์นั้นเป็นเรื่องที่ไม่เปลี่ยนแปลง แต่หากปรับพฤติกรรมสร้างวินัยให้กับชีวิตเป็นสำคัญแล้วโรคหายได้ครับ หรือหากจะเป็นก็นานๆครั้งตามปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ เรามาดูในเรื่องของสิ่งที่เราต้องจริงจังกับชีวิตเพื่อไม่ให้เป็น เซ็บเดิร์มกัน

1. การดูแลสมดุลของ ยีสต์ (Yeast)
ยีสต์บนหนังศีรษะ – การใช้แชมพูจัดรังแค แชมพูที่มีส่วนประกอบในการยับยั้งเชื้อราเช่น Ketoconazole, Cyclopirox ช่วยลดปริมาณเชื้อบนหนังศีรษะและทำให้รังแคดีขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ การสระต้องท้ิงแชมพู่ไว้บนศีรษะ5-10 นาที ก่อนล้างออก ใช่ครีมนวดผมตามได้ ใช่รวมกับแชมพูอื่นๆได้เพราะแชมพูมักทำให้ผมแห้ง และกลิ่นอาจจะไม่หอมนัก ความถี่ในการสระขึ้นอยู่กับอาการ ช่วงที่เป็นเยอะอาจจะสระด้วยแชมพูนี้ทุกวัน หรือวันเว้นวัน และถึงแม้อาการดีขึ้นแล้วก็ควรใช้ต่อเนื่องอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง

ยีสต์ในลำไส้ – ถึงการศึกษาเรื่องยีสต์ในลำไส้กับเซ็บเดิร์มยังมีน้อย แต่พบว่าอาหารที่มีส่วนประกอบของยีสต์ อาการพวกแป้งน้ำตาล นม เนย ชีสต์ ที่ทำให้ยีสต์ในลำไส้เพิ่มขึ้น ล้วนแล้วแต่ทำให้อาการของผื่นแย่ลง การจำกัดอาหารเหล่านี้ รวมถึงการใช้ โปรไบโอติก (Probiotic) มาช่วยรักษาทำให้ควบคุมโรคได้ง่ายขึ้น

2. การรักษาสมดุลของหนังศีรษะ
หนังศีรษะแห้ง /หนังศีรษะมัน – การเลือกแชมพูเป็นส่วนประกอบที่สำคัญในเรื่องนี้ แชมพู ทาร์ (Tar shampoo), ซิงค์ไพริไทออน (Zine pyrithion), ซิลิเนียม (Seleium) ที่มีฤทธิ์ลดการอักเสบของหนังศีรษะ และลดการแบ่งตัวจะทำให้รังแคดีขึ้น ใช้ได้ดีในคนที่หนังศีรษะมัน แต่มักทำให้หนังศีรษะแห้ง จึงควรใช้ไม่ถี่เกินไปในคนที่ผิวแห้ง ในคนที่หนังศีรษะแห้ง ควรงดการใช้น้ำอุ่นสระผม การใช้น้ำมันมะพร้าว น้ำมันมะกอก ชโลมศีรษะข้ามคืนก่อนสระออก ช่วยทำให้หนังศีรษะไม่แห้งเกินไป อาหารเสริมในกลุ่ม Fish oil ก็อาจจะทำให้หนังศีรษะที่แห้งดีขึ้น

การอักเสบของหนังศีรษะ – การรักษาอาการอักเสบของหนังศีรษะ สเตอรอยด์ชนิดทา เป็นยาที่จะทำให้ เซ็บเดิร์ม ดีขึ้นได้ง่ายและเร็ว แต่มีผลเสียในระยะยาวทำให้โรคเป็นซ้ำง่าย และหนังศีรษะอ่อนแอ่ แนะนำให้ใช้ในกรณีที่การอักเสบเป็นมากๆในระยะเวลาสั้นๆไม่เกิน 1 สัปดาห์เท่านั้น การยับย้ังการอักเสบด้วยวิธีอื่นเช่นยาทาต้านเชื้อรา ยาต้านการอักเสบแบบไม่มีสเตอร์รอย เช่น แทโครลิมุส (Tacrolimus) ไพเมโครลิมุส (Pimecrolimus) อาจให้ผลช้ากว่าสเตอรอยด์ ใช้ได้ยากบนหนังศรีษะ แต่ใช้ได้ดีกับใบหน้า ยาเหล่านี้โดยประสบการณ์ให้ผลการควบคุมโรคในระยะยาวได้ดีกว่าการใช้สเตอรอยด์ การใช้ การรักษาด้วยแสง หรือ เลเซอร์ เพื่อลดการอักเสบของหนังศีรษะและใบหน้าเป็นทางเลือกที่ดีในผู้ที่มีปัญหากับการทายา

3. วินัยในการดูแลสุขภาพกาย และ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
เซ็บเดิร์ม (SebDerm) เป็นโรคที่ต้องมีวินัยในการกินอยู่หลับนอนให้เป็นสุข อาหาร ควรรับประทานให้ได้สมดุล การขาดวิตามินและแร่ธาตุ เช่นวิตามิน B2 B6 B9 Biotin สังกะสี (Zinc) เป็นเหตุให้เกิดเซ็บเดิร์ม ควรลดอาหารที่ใช้ยีสต์เป็นส่วนประกอบ ลดแป้งน้ำตาล นม เนย ชีสต์ น้ำอัดลม แอลกอฮอลล์

ความเครียด ขาดการพักผ่อน อดนอน ทำให้ผื่นเห่อ และอาการของโรคควบคุมได้ยาก ควรนอนหลับอย่างน้อยในช่วง 5ทุ่ม ถึง ตี5 ดื่มน้ำให้เพียงพอ

การออกกำลังกาย ควรออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ ไม่หักโหม หรือ น้อยจนเกินไป และต้องอาบน้ำสระผม ทันทีหลังจากการออกกำลังกาย หรือมีเหงือออกเยอะๆ

หากเราเข้าใจโรคอย่างถูกต้องและมีวินัยสามารถปฎิบัติตาม 3 เคล็ดลับนี้ได้แล้ว เซ็บเดิร์ม ก็จะไม่เป็นปัญหาของเราอีกต่อไป

เอกสารอ้างอิง
Goldsmith LA, et al. Edited; Fitpatrick’s Dermatology in general medicine, Edition 8th. 2012
Bolognia JL. Et al. Edited; Dermatology Edition 3rd, 2012
DeAngelis YM, Gemmer CM, Kaczvinsky JR, et al. Three etiologic facets of dandruff and seborrheic dermatitis: Malassezia fungi, sebaceous lipids, and individual sensitivity. J Investig Dermatol Symp Proc. 2005 Dec;10(3):295-7.
 Tajima M. Malassezia species in patients with seborrheic dermatitis and atopic dermatitis. Nihon Ishinkin Gakkai Zasshi. 2005;46(3):163-7.
Lotti T, Goldust M, Rezaee E. Treatment of seborrheic dermatitis, comparison of sertaconazole 2% cream versus ketoconazole 2% cream. J Dermatolog Treat. 2013 May 6.
Gupta AK, Richardson M, Paquet M. Systematic Review of Oral Treatments for Seborrheic Dermatitis. J Eur Acad Dermatol Venereol. 2013 Jun 26
Cook BA, Warshaw EM. Role of topical calcineurin inhibitors in the treatment of seborrheic dermatitis: a review of pathophysiology, safety, and efficacy. Am J Clin Dermatol. 2009;10(2):103-18.
Dietel K, Ritter I. Oral carbohydrate loading in seborrheic dermatitis with diarrhea Kinderarztl Prax. 1969 Aug;37(8):346-50.
Menzel I, Holzmann H. Reflections on seborrheic scalp eczema and psoriasis capillitii in relation to intestinal mycoses Z Hautkr. 1986 Apr 1;61(7):451-4.
Buslau M, Hänel H, Holzmann H. The significance of yeasts in seborrheic eczema Hautarzt. 1989 Oct;40(10):611-3.

บทความจาก ดร.นพ. สาโรช สุวรรณสุทธิ

https://www.samitivejhospitals.com/th/article/detail/%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B9%81%E0%B8%84

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้