เมลาโทนิน...ทางเลือกหนึ่งของคนนอนไม่หลับ

301 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เมลาโทนิน...ทางเลือกหนึ่งของคนนอนไม่หลับ

อาการนอนไม่หลับ เป็นปัญหาที่พบได้ในหลายช่วงอายุ ทั้งวัยหนุ่มสาว วัยทำงาน หรือผู้สูงอายุ นอนไม่หลับเกิดได้จากหลายสาเหตุ ท่านสามารถป้องกันปัญหานอนไม่หลับได้จากการปรับพฤติกรรม เช่น ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ ในช่วงเวลาเย็นหรือใกล้เวลาเข้านอน เป็นต้น

หากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมยังไม่สามารถช่วยให้ท่านนอนหลับได้ง่ายขึ้น การรับประทานยาหรือฮอร์โมนทดแทนเพื่อช่วยบรรเทาปัญหานอนไม่หลับอาจเป็นทางเลือกหนึ่ง โดยฮอร์โมนที่ร่างกายสร้างขึ้นเพื่อให้ร่างกายเข้าสู่การนอนหลับ  คือ “เมลาโทนิน”
 เมลาโทนินคืออะไร?
เมลาโทนิน (Melatonin) เป็นฮอร์โมนที่สร้างมาจากสมอง โดยสมองจะถูกกระตุ้นให้สร้างเมลาโทนินในเวลาที่ไม่มีแสงหรือมีแสงสว่างน้อย เมื่อถึงเวลากลางคืนสมองจะหลั่งเมลาโทนินออกมาสู่กระแสเลือด ทำให้ร่างกายรู้สึกง่วง ซึ่งปกติจะเป็นเวลาประมาณ 21.00 น. 

ระดับของเมลาโทนินจะคงอยู่ในกระแสเลือดของเราเป็นเวลา 12 ชั่วโมงแล้วจะค่อยๆ ลดลงพร้อมกับการกลับมาของแสงอาทิตย์ และในเวลาประมาณ 9.00 น. ระดับเมลาโทนินจะลดต่ำลงจนวัดระดับไม่ได้
 ปัจจัยใดบ้าง ที่ส่งผลต่อการสร้างเมลาโทนิน?
ช่วงเวลากลางวันและกลางคืน เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างและหลั่งเมลาโทนิน นอกจากนี้ ปัจจัยเรื่องแสงและความสว่างก็ส่งผลต่อการหลั่งเมลาโทนินเช่นกัน บางครั้งจึงเรียกฮอร์โมนชนิดนี้ว่า "Dracula of hormones" เนื่องจากเมลาโทนินจะหลั่งออกมาในเวลากลางคืน หรือเมื่ออยู่ในที่มืด มีแสงน้อย และร่างกายจะถูกยับยั้งการหลั่งเมลาโทนินเมื่ออยู่ภายใต้แสงไฟ ความสว่างของเครื่องคอมพิวเตอร์หรือหน้าจอโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น
 บทบาทของเมลาโทนินต่อนาฬิกาชีวภาพ (circadian rhythm) ของร่างกาย
นาฬิกาชีวภาพ (circadian rhythm) คือ ลักษณะทางชีววิทยาตลอด 24 ชั่วโมงของแต่ละคนที่เกิดการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาเพื่อควบคุมการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย เช่น ฮอร์โมน อุณหภูมิของร่างกาย การหลับและการตื่น เป็นต้น

วงจรการหลับและการตื่นก็เป็นวงจรหนึ่งที่นาฬิกาชีวภาพเข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมาก  นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลต่อวงจรดังกล่าว ได้แก่ ระดับฮอร์โมนในกระแสเลือด ระดับเมลาโทนิน อุณหภูมิในร่างกาย และแสงสว่าง เป็นต้น

เมลาโทนินเป็นฮอร์โมนที่มีผลเป็นอย่างมากต่อการนอนหลับ หากร่างกายมีระดับฮอร์โมนเมลาโทนินสูงจะทำให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น และมีส่งผลต่อระยะเวลาในการนอนที่นานขึ้นอีกด้วย
 ประโยชน์ของเมลาโทนิน มีอะไรบ้าง?
เนื่องจากเมลาโทนินเป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับโดยตรง จึงทำให้ประโยชน์ของฮอร์โมนนี้เกี่ยวข้องกับวงจรการนอนหลับเสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งในปัจจุบันฮอร์โมนดังกล่าวสามารถสร้างขึ้นภายนอกร่างกายด้วยวิธีการสังเคราะห์ และนำมาผลิตเป็นอาหารเสริม หรือยาที่ใช้เพื่อช่วยแก้ปัญหาในการนอนหลับได้ อย่างไรก็ตาม ควรใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ โดยประโยชน์ของการใช้เมลาโทนินเพื่อบรรเทาปัญหาการนอนหลับ มีดังนี้รักษาความผิดปกติของนาฬิกาชีวภาพในคนตาบอดทั้งเด็กและผู้ใหญ่
รักษากลุ่มอาการนอนหลับผิดเวลา (delayed sleep phase syndrome) เป็นความผิดปกติด้านการนอนหลับ ที่ผู้ป่วยจะไม่สามารถนอนหลับได้ก่อนเวลา 2.00 น. และมักมีปัญหาในการตื่นนอนตอนเช้า การใช้อาหารเสริมที่มีเมลาโทนินร่วมกับการปรับสภาพแวดล้อมในการนอนให้เหมาะสม สามารถรักษาความผิดปกติดังกล่าว และช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น
รักษาโรคนอนไม่หลับ (insomnia) มีการศึกษาเกี่ยวกับการใช้เมลาโทนินเพื่อรักษาโรคนอนไม่หลับและยังช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพในการนอนหลับ และระยะเวลาในการนอนหลับที่ดีมากขึ้น
บรรเทาอาการเจ็ทแลค (jet lag) อาการนี้เกิดขึ้นจากการที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวกับการเปลี่ยนของเขตเวลา โดยมักเกิดขึ้นเมื่อต้องเดินทางด้วยเครื่องบิน  ซึ่งก่อให้เกิดอาการนอนหลับไม่สนิท ตื่นตัว  รู้สึกอ่อนเพลียระหว่างวัน   เป็นต้น
ช่วยในเรื่องการนอนหลับของคนที่ทำงานเป็นกะ (shift work)
 อาการข้างเคียงจากการใช้เมลาโทนิน?
แม้ว่าเมลาโทนินเป็นฮอร์โมนที่มีอยู่ในร่างกาย แต่การใช้อาหารเสริมที่มีส่วนประกอบของฮอร์โมนดังกล่าว อาจทำให้เกิดความเสี่ยงจากการได้รับฮอร์โมนนี้ติดต่อกันในระยะยาว ดังนั้น แพทย์จึงมักแนะนำให้ใช้ฮอร์โมนดังกล่าวในระยะเวลาสั้นๆ เพื่อป้องกันผลข้างเคียงต่างๆ เช่น อาการง่วงเหงาหาวนอนระหว่างวัน  ปวดศีรษะ  วิงเวียนศีรษะ เป็นต้น

อาการข้างเคียงที่พบได้น้อย เช่น ภาวะซึมเศร้าในระยะสั้น อาการมวนท้อง  วิตกกังวล  หงุดหงิด มึนงง  ความดันโลหิตต่ำ เป็นต้น
 

หากท่านต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์ข้อมูลยาโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ตลอด 24 ชั่วโมง
References:
Melatonin and Sleep. Sleepfoundation.org [Internet]. 2019 [cited 2019 July 29]. Available from: https://www.sleepfoundation.org/articles/melatonin-and-sleep
Melatonin. Mayo Clinic [Internet]. March 30, 2018 [cited 2019 July 29]. Available from: https://www.mayoclinic.org/drugs-supplements-melatonin/art-20363071
UpToDate. Waltham, MA. [Internet]. 2018. [cited 2019 Aug 23] ; Available from: https://www.uptodate.com/contents/physiology-and-available-preparations-of-melatonin?search=melatonin&source=search_result&selectedTitle=1~108&usage_type=default&display_rank=1
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
คลินิกคุณภาพการนอนหลับ
Tel: 02 011 2988
Email: SleepClinic@Bumrungrad.com


จาก https://www.bumrungrad.com/th/health-blog/november-2019/melatonin

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้